การวางแผนการสำรวจภาคพื้นดิน


          จุดควบคุมภาคพื้นดิน (Ground Control Point : GCP) หมายถึง จุดใดๆที่ทราบค่าพิกัดในระบบพิกัดภูมิประเทศ เป็นตัวกลางที่ทำให้สามารถจัดภาพให้มีความสัมพันธ์อ้างอิงกับพื้นภูมิประเทศ แบ่งออกเป็น
-          จุดควบคุมทางราบ (Horizontal Control Point)
-          จุดควบคุมทางดิ่ง (Vertical Control Point)
ระบบพิกัดอ้างอิง ในระบบพิกัดภูมิประเทศ ที่ใช้โดยทั่วไป แบ่งออกเป็น
พิกัดทางราบ ได้แก่
-          ระบบพิกัดภูมิศาสตร์ ละติจูด, ลองจิจูด (ϕ, λ)
-          ระบบพิกัดกริด UTM Easting, Northing (N, E)
พิกัดทางดิ่ง ได้แก่
-          ระดังสูงเหนือพื้นอ้างอิง เช่น ระดับทะเลปานกลาง (Mean Sea Level : MSL)

จุดควบคุมหลัก (Basic Control) หมายถึง หมุดหลักฐานทางราบและหมุดระดับ ซึ่งจะใช้เป็นหมุดอ้างอิงต่อไป ในการหาค่าพิกัดของจุดควบคุมภาพถ่าย

จุดควบคุมภาพถ่าย (Photo Control) หมายถึง จุดควบคุมภาคพื้นดินที่ทำการรังวัดออกจากหมุดควบคุมหลัก เป็นจุดที่มีจุดภาพปรากฏและชี้จำแนกได้อย่างถูกต้องบนภาพถ่าย ใช้เป็นจุดควบคุมสำหรับงานสำรวจด้วยภาพถ่าย

ชนิดชุดควบคุมภาพถ่าย
1. Signalised Point เป็นการกำหนดจุดควบคุมภาพถ่ายโดยการทำเครื่องหมายในภูมิประเทศก่อนทำการบินถ่ายภาพ (Pre - marking) ส่วนมากใช้กำหนดตำแหน่งจุดควบคุมภาพถ่ายที่ต้องการความละเอียดถูกต้องสูง


2. Terrain/Nature Point ลักษณะภูมิประเทศที่ปรากฏบนภาพถ่ายที่สามารถชี้จำแนกได้เด่นชัด เช่น ทางตัดทางแยก มีตำแหน่งที่เหมาะสม กำหนดหลักการบินถ่ายรูปได้แล้ว


คุณลักษณะของจุดบังคับรูปถ่าย
1. ต้องอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องและเหมาะสมบนภาพถ่าย
2. ต้องชี้จำแนกได้อย่างถูกต้องทั้งบนภูมิประเทศจริงและบนภาพถ่าย
3. ต้องมีความคมชัดและเห็นได้ชัดเจนในทุกรูปที่ปรากฏ
4. ควรมีการเดินทางเข้าถึงได้สะดวก
5. ต้องทำเครื่องหมายบนรูปอย่างเฉพาะเจาะจงและเขียนอธิบายได้ชัดเจน


ข้อกำหนดโดยทั่วไปในบล็อกของรูปถ่าย โดยรูปแบบที่ดี จะต้อง มีจุดควบคุมภาพถ่ายทางราบอยู่ตามขอบบล็อก และจุดควบคุมภาพถ่ายทางดิ่งอยู่กระจายอย่างสม่ำเสมอทั่วทั้งบล็อก

การวางแผนการสำรวจจุดควบคุมภาพถ่าย
ใช้หลักการ “Control from the whole to the part” จุดควบคุมภาพถ่ายจะต้องทำการรังวัดโดยการโยงยึดออกจากโครงข่ายของจุดควบคุมของประเทศ เข้ามาในพื้นที่โครงการ ปัจจุบันมักใช้การสำรวจด้วยระบบดาวเทียม GPS และสำรวจระดับด้วยวิธี Differential Leveling


ความละเอียดถูกต้องของจุดควบคุมภาพถ่าย
โดยหลักการแล้วขึ้นอยู่กับความละเอียดถูกต้องของแผนที่ หรือการคำนวณจากภาพถ่ายที่มีจุดนั้นๆควบคุมอยู่ เกณฑ์มาตรฐานความละเอียดถูกต้องแห่งชาติสหรัฐอเมริกา กำหนดให้
ความละเอียดถูกต้องทางราบ (Horizontal Accuracy) 90% ของตำแหน่งรายละเอียดทางราบบนแผนที่ สามารถร่างได้อย่างถูกต้องภายใน 0.8 มม. สำหรับแผนที่มาตราส่วนใหญ่กว่า 1:20,000 และ 0.5 มม. สำหรับแผนที่มาตราส่วน 1:20,000 และเล็กกว่า ตัวอย่างเช่น สำหรับแผนที่มาตราส่วน 1:25,000 จะต้องมีความละเอียดถูกต้องภายใน 0.5 มม. x 25,000 = 12.5 ม.
ความละเอียดถูกต้องทางดิ่ง (Vertical Accuracy) 90% ของจุดตรวจสอบความสูงประมาณต้องมีความถูกต้องอยู่ในเกณฑ์ ½ ช่วงเส้นชั้นความสูง (Contour Interval) ตัวอย่างเช่น ถ้ากำหนดเส้นชั้นความสูง 5 ม. จุดควบคุมภาพถ่ายทางดิ่งต้องมีความถูกต้องภายใน 1 ม.
รูปแบบการกระจายของจุดควบคุมภาพถ่าย
บล็อกปกติ (Typical Block) คือบล็อกของภาพถ่ายทางอากาศที่บินถ่ายภาพโดยมีส่วนซ้อน 60% และมีส่วนเกย 30% ตำแหน่งการจัดวางจุดควบคุมภาพถ่ายและจำนวนที่เหมาะสมจะมีลักษณะดังนี้


บล็อกปกติมีการใช้การรังวัดด้วยดาวเทียมจีพีเอสที่ให้ค่าพิกัดพร้อมกันในทั้งทางราบและทางดิ่งด้วยความละเอียดถูกต้องสูง ในแต่ละบล็อกจึงอาจกำหนดตำแหน่งของจุดควบคุมภาพถ่ายได้จากการรังวัดดาวเทียมจีพีเอสดังภาพ

บล็อกจีพีเอส (GPS Block)
จุดควบคุมภาพถ่ายสำหรับบล็อกจีพีเอส นิยมทำจุดควบคุมภาพถ่ายชนิด Signalised Point นอกจากนี้การใช้จุดควบคุมมากกว่า 3 จุด จะช่วยให้สามารถแปลงพื้นหลักฐานอ้างอิงทางระดับจากระบบความสูงบนทรงรีให้เป็นระบบความสูงเหนือพื้นผิวยีออยด์ได้อีกด้วย


อ้างอิงข้อมูลจาก : การวางแผนโครงการทำแผนที่จากภาพถ่ายทางอากาศ โดย พันโท กิตติศักดิ์ ศรีกลาง โรงเรียนแผนที่ กรมแผนที่ทหาร




ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เส้นโครงแผนที่คืออะไร (What is Map Projection?)

เทคนิคการรังวัดหาค่าพิกัดดาวเทียมด้วยระบบ GNSS

ความคลาดเคลื่อนในการรังวัดดาวเทียมระบบ GPS