GNSS RTK NETWORK

          ปัจจุบันการรังวัดแบบจลน์ในทันทีหรือการรังวัดแบบ RTK นั้นสามารถทำได้ง่ายโดยใช้ระบบเครือข่ายสถานีรับสัญญาณดาวเทียมถาวร (Continuously Operating Reference Station : CORS) หลักการคล้ายคลึงกับวิธีการรังวัดแบบจลน์ในทันที แต่แตกต่างกันที่ต้องขอรหัสผู้ใช้ (user name) จากผู้ให้บริการเครือข่าย (ซึ่งในประเทศไทยให้บริการโดยกรมที่ดิน) โดยผู้ใช้งานใช้เครื่องรับสัญญาณเพียงเครื่องเดียวไปวางในตำแหน่งที่ต้องการทราบค่าพิกัดภายในพื้นที่ให้บริการ วิธีนี้สามารถให้ค่าความถูกต้องในระดับต่ำกว่า 4 เซนติเมตร

ระบบเครือข่ายสถานีรับสัญญาณดาวเทียมถาวร CORS คืออะไร?
CORS ย่อมาจาก Continuously Operating Reference Station เป็นสถานีรับสัญญาณดาวเทียมแบบต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง สามารถนำมาแทนที่การวางสถานีฐานแบบดั้งเดิม (Base Station) ระบบ CORS ปัจจุบันได้มีการนำไปใช้ทั้งทางด้านอุตสาหกรรมการเกษตร การก่อสร้าง เหมืองแร่ การสำรวจและในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์
          โดยปกติระยะห่างสูงสุดระหว่างสถานีฐาน (Base Station) และสถานีเคลื่อนที่ (Rover Station) จะอยู่ที่ประมาณ 10 – 15 กิโลเมตร ไม่เกินจากนี้เนื่องจากจะมีความคลาดเคลื่อนต่อสัญญาณที่ส่งมาจากกลุ่มดาวเทียม GNSS ผ่านชั้นบรรยากาศมายังเครื่องรับ อธิบายง่ายๆคือยิ่งระยะห่างระหว่างสถานีมีมากเท่าไหร่ความถูกต้องก็ยิ่งน้อยลงเท่านั้น
          ด้วยการจัดตั้งระบบโครงข่ายรับสัญญาณดาวเทียมแบบต่อเนื่อง (CORS Station) จึงช่วยลดข้อจำกัดด้านระยะห่างออกไปได้ถึงราวๆ 70 กิโลเมตร โดยใช้ CORS อย่างน้อย 3 สถานี ทำให้สามรถปรับแก้ชั้นบรรยากาศในขณะเคลื่อนย้ายสถานีรับเพื่อให้ได้ความถูกต้องเชิงตำแหน่งต่ำกว่า 4 เซนติเมตร ตามที่อุตสาหกรรมต่างๆต้องการ

หลักการทำงานของสถานีรับสัญญาณดาวเทียมแบบต่อเนื่องมีดั้งต่อไปนี้
1.       สถานีอ้างอิงจะรับสัญญาณดาวเทียมตลอด 24 ชั่วโมงและส่งข้อมูลการรังวัดมายังศูนย์ควบคุมส่วนกลาง
2.       ผู้ใช้งานเครื่องรับสัญญาณทำการเชื่อมต่อระบบโดยการเข้ารหัสจากผู้ให้บริการเครือข่ายจากนั้นเครื่องรับจะส่งค่าพิกัดโดยประมาณไปยังศูนย์ควบคุมส่วนกลาง
3.       ระบบจะสร้างตำแหน่งสถานีอ้างอิงเสมือน (Virtual Reference Station : VRS) มาให้ใกล้ๆ กับตำแหน่ง เครื่องรับสัญญาณดาวเทียมของผู้ใช้งาน
4.       การทำงานจะเหมือนการรังวัดด้วยดาวเทียมแบบจลน์ ที่มีเส้นฐานสั้นๆ จากสถานีอ้างอิงเสมือน ผู้ใช้งานจะได้ค่าพิกัดที่มีความถูกต้องสูง ณ เวลานั้น หากมีการเคลื่อนที่ออกห่างจากระยะสถานีอ้างอิงเสมือนมากเกินไป ระบบก็จะคำนวณและสร้างสถานีอ้างอิงเสมือนใหม่ให้ ณ ตำแหน่งใกล้ๆกับเครื่องรับ
ข้อดีในการใช้งานระบบ CORS Station คือ
1.       สามารถรับสัญญาณและประมวลผลจากดาวเทียมได้ทุกระบบ
2.       ความถูกต้องแม่นยำสูง (ความคลาดเคลื่อนไม่เกิน 4 เซนติเมตร)
3.       เครื่องรับสัญญาณดาวเทียมเพียงเครื่องเดียวก็สามารถทำงานได้ ทำให้มีความสะดวก รวดเร็ว และได้ค่าพิกัดในทันที
4.      ช่วยลดต้นทุน ลดระยะเวลาและขั้นตอนในการทำงานลงไปได้มาก

ข้อจำกัดในการใช้งานระบบ CORS Station คือ
1.       ต้องมีรหัสผู้ใช้ของผู้ให้บริการเครือข่าย
2.       เครื่องรับสัญญาณดาวเทียมต้องสามารถทำงานบนระบบ Internet ได้
3.       อาจมีค่าใช้จ่ายในการใช้บริการเครือข่าย
4.       จำกัดการรับสัญญาณแค่ในพื้นที่ที่ให้บริการเท่านั้น (หมายความว่านอกพื้นที่ให้บริการและพื้นที่ที่ไม่สามารถรับสัญญาณ internet 3G/4G ได้ ก็ไม่สามารถใช้งาน CORS ได้)

ในการทำงานภาคสนามผู้ใช้ต้องมีความรู้ความเข้าใจในระบบเป็นพื้นฐาน เพื่อที่จะใช้ในการวางแผนการใช้งานให้เข้ากับสภาพหน้างานและสภาพพื้นที่ ถึงแม้ว่าระบบ CORS จะเพิ่มความสะดวกสบายในการทำงานแต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีข้อจำกัดอยู่หลายอย่างตามที่กล่าวไปในข้างต้น

อ้างอิงข้อมูลจาก : กองเทคโนโลยีทำแผนที่ กรมที่ดิน , www.sage.unsw.edu.au

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เส้นโครงแผนที่คืออะไร (What is Map Projection?)

เทคนิคการรังวัดหาค่าพิกัดดาวเทียมด้วยระบบ GNSS

การวางแผนการสำรวจภาคพื้นดิน