พื้นหลักฐานอ้างอิงของประเทศไทย



          การกำหนดตำแหน่งบนพื้นผิวโลกให้มีความถูกต้องนั้น นอกจากวิธีที่ใช้ในการรังวัดต้องมีความถูกต้องสูงแล้ว สิ่งที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน คือพื้นหลักฐานอ้างอิง (reference datum) ซึ่งใช้เป็นระบบอ้างอิงในการหาตำแหน่ง (reference system) และโครงข่ายทางยีออเดซี (geodetic network) ซึ่งประกอบด้วยหมุดหลักฐานที่รังวัดเชื่อมโยงกันเป็นโครงข่ายและมีค่าพิกัดบนระบบอ้างอิง โดยพื้นหลักฐานอ้างอิงมี 2 ชนิด คือ พื้นหลักฐานทางราบและพื้นหลักฐานทางดิ่ง

          พื้นหลักฐานทางราบที่ใช้ในประเทศไทยมีหลายพื้นหลักฐาน ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะ พื้นหลักฐานอินเดียน พ.ศ. 2518 และพื้นหลักฐานสากล ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

          พื้นหลักฐาน Indian1975 ปี พ.ศ. 2518 องค์การแผนที่ กระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา ได้ทำการปรับแก้และย้ายศูนย์กำเนิดของพื้นหลักฐานจากเขากะเลียนเปอร์ ประเทศอินเดีย มาเป็นเขาสะแกกรัง จ.อุทัยธานี การปรับแก้ครั้งนี้ใช้เทคนิคการรังวัดจากดาวเทียมดอปเปลอร์จำนวน 9 สถานี ซึ่งตำแหน่งสัมพัทธ์ที่ได้จากการรังวัดดาวเทียมดอปเปลอร์ มีความถูกต้องสูงกว่าที่ได้จากงานโครงข่ายสามเหลี่ยม เป็นจุดควบคุมโครงข่ายสามเหลี่ยมซึ่งประกอบด้วย จำนวนหมุดสามเหลี่ยมทั้งสิ้น 426 สถานี เรียกผลลัพธ์จากการปรับแก้โครงข่ายสามเหลี่ยมในครั้งนี้ว่า พื้นหลักฐาน Indian1975 และที่สำคัญพื้นหลักฐานนี้ยังเป็นพื้นหลักฐานอ้างอิงทางราบในแผนที่ L7017 อีกด้วย

          พื้นหลักฐาน WGS 84 (World Geodetic System 1984) พื้นหลักฐานนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นระบบพื้นหลักฐานสากล เนื่องจากเป็นพื้นหลักฐานที่อ้างอิงทั้งโลกซึ่งพัฒนาโดยกระทรวงกลาโหมของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยอาศัยข้อมูลทางกราวิตี้ (Gravity Data) ครอบคลุมทั่วโลกประกอบกับข้อมูลจากการรังวัดดาวเทียมดอปเปลอร์ที่มีสถานีครอบคลุมทั่วโลก ประโยชน์ของพื้นหลักฐานนี้เพื่อใช้พัฒนากิจการด้านอวกาศ โดยเฉพาะระบบการกำหนดตำแหน่งด้วยดาวเทียม พื้นหลักฐานนี้ใช้จุดศูนย์กลางของโลกเป็นจุดกำเนิดคล้ายกับระบบ GRS (Geocentric Reference System) และพื้นหลักฐาน WGS84 นี้ยังมีลักษณะทางกายภาพเหมือนกับ ITRS (International Terrestrial Reference System) และที่สำคัญจุดศูนย์กลางของโลกและจุดกำเนิดของพื้นหลักฐาน ยังเป็นจุดศูนย์กลางของวงโคจรดาวเทียม GPS อีกด้วย พื้นหลักฐานนี้ในปัจจุบันได้รับการยอมรับว่าเป็นพื้นหลักฐานที่มีความละเอียดถูกต้อง และมีความน่าเชื่อถือสูง (ความคลาดเคลื่อนของตำแหน่งศูนย์กลางของโลกประมาณ + 1 เมตร) และประเทศไทยได้จัดทำแผนที่ชุดใหม่โดยใช้พื้นหลักฐานนี้อ้างอิงทางราบ คือ แผนที่ภูมิประเทศ มาตราส่วน 1:50,000 ชุด L7018

          พื้นหลักฐานทางดิ่ง คือพื้นหลักฐานที่ใช้อ้างอิงระดับความสูง (Elevation) ซึ่งในการสำรวจและการทำแผนที่ชั้นสูงจะเป็นค่า Orthometric Height ซึ่งในทางทฤษฎีอ้างอิงกับพื้นผิวศักย์สมดุล (Equipotential Surface) หรือพื้นผิวระดับ (Level Surface) ที่เรียกว่า ยีออยด์ (Geoid) โดยที่ยีออยด์ถือว่าเป็นสัณฐานของโลกอย่างแท้จริง อันเป็นผลมาจากปรากฏการธรรมชาติ อาทิ สนามความถ่วงพิภพ เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติ เนื่องจากการหายีออยด์ให้มีความถูกต้องสูง กระทำได้ยากและสลับซับซ้อน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ปี พ.ศ. 2543 – 2458 ได้มีการรังวัดระดับน้ำทะเลเป็นเวลา 5 ปี (ระยะเวลาเหมาะสมควรเป็น 19 ปี) ณ สถานีวัดน้ำ กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ต.เกาะหลัก อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดย Mr. S W Masterman รังวัดด้วยเครื่อง The Lord Kevin Vertical Type บันทึกการขึ้นลงของระดับน้ำทะเลแล้วมาเฉลี่ยเพื่อหาค่าระดับทะเลปานกลาง จากนั้นจึงได้โยงค่าระดับทะเลปานกลาง (MSL) มายังบริเวณโขดหินชายฝั่ง แล้วกำหนดให้เป็นหมุดหลักฐานอ้างอิงทางดิ่งหมุดแรกหรือเป็นจุดศูนย์กำเนิด มีชื่อว่า “BMA.” ได้ค่า 1.4477 เมตร และเรียกระดับทะเลปานกลาง (MSL) นี้ว่า พื้นหลักฐานทางดิ่งเกาะหลัก 2458จึงนิยมใช้ระดับทะเลปานกลาง (Mean Sea Level : MSL) เป็นพื้นผิวระดับที่มีค่าระดับเป็นศูนย์ เพื่อใช้ในการอ้างอิงเพื่อหาค่าระดับความสูง เป็นพื้นหลักฐานทางดิ่งของประเทศไทยมาจนกระทั่งทุกวันนี้

อ้างอิงข้อมูลจาก : กรมแผนที่ทหาร รวบรวมโดย ราชวัลย์ กันภัย กลุ่มบริหารแผนที่และภาพถ่ายออร์โธสี สำนักเทคโนโลยีการสำรวจและทำแผนที่ กรมพัฒนาที่ดิน


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เส้นโครงแผนที่คืออะไร (What is Map Projection?)

เทคนิคการรังวัดหาค่าพิกัดดาวเทียมด้วยระบบ GNSS

การวางแผนการสำรวจภาคพื้นดิน